อาหารรสเค็ม
โซเดียมเป็นส่วนประกอบสำคัญของเกลือ ทำหน้าที่สำคัญในการควบคุมความสมดุลของของเหลวในร่างกาย รักษาความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ ช่วยควบคุมระดับความเป็นกรด- ด่างของเลือด เป็นต้น แม้ว่าร่างกายจะผลิตเกลือเพียงน้อยนิด แต่เราก็ไม่เคยขาดเกลือ เพราะร่างกายมีระบบที่สามารถเก็บเกลือไว้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังปรับตัวต่อปริมาณเกลือที่ลดลงได้ อีกทั้ง เกลือ ยังมีอยู่ในผัก ผลไม้ เครื่องปรุงรสต่างๆ อาหารหมักดอง เนื้อสัตว์ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และขนมขบเคี้ยว อีกด้วย
การกินเค็มแต่พอดีจะช่วยขับร้อน แก้อาการเลือดออกตามไรฟัน บำบัดอาการท้องเฟ้อ ขับเสมหะ แก้ปวดฟัน ทำความสะอาดแผล ช่วยเรื่องอาการขัดเบาของร่างกาย เป็นต้น แหล่งที่มาของรสเค็ม โดยมากมาจาก เกลือ น้ำปลา ซีอิ้ว ซอส และสาหร่ายทะเลบางชนิด องค์การอนามัยโลกได้กำหนดปริมาณการรับเกลือสูงสุดของร่างกายไว้ที่วันละประมาณ 6,000 มิลลิกรัม แต่เชื่อหรือไม่ว่า ปัจจุบันคนไทยกินเกลือกันโดยเฉลี่ยถึงวันละ 7,000 มิลลิกรัม (เกือบ 2 ช้อนชาต่อวัน) เลยทีเดียว กินเค็มกันมากขนาดนี้ เรามาดูกันดีกว่าครับว่ามีโรคอะไรตามมาบ้าง
ร้อนใน กระหายน้ำ การกินเค็มจัดจะทำให้ระบบการดูดซึมอาหารในร่างกายทำงานหนัก ร่างกายที่ได้รับโซเดียมสูงกว่าปกติจะพยายามจะขับเกลือทิ้งออกทางเหงื่อ ปัสสาวะ จึงทำให้รู้สึกกระหายน้ำ ร้อนใน รู้สึกแสบคอ ยิ่งกินเค็มมากๆอาจทำให้อาเจียน ท้องเดิน หรือเกิดอาการบวมน้ำได้
ภาวะขาดน้ำ สำหรับเด็กและทารกซึ่งไตยังไม่สามารถขับถ่ายโซเดียมส่วนเกินได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าผู้ใหญ่ การกินอาหารรสเค็มมากเกินไปอาจยิ่งเพิ่มภาวะเสี่ยงต่อการมีโซเดียมสะสมในร่างกาย และอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ (Dehydration) อย่างรุนแรงได้
ความดันโลหิตสูง แพทย์และนักโภชนาการเชื่อว่ารสเค็มจะทำให้ร่างกายมีการเก็บกักน้ำเพื่อการสร้างความสมดุล จึงทำให้เลือดในร่างกายไหลเวียนช้า การคั่งของโซเดียมในร่างกายจึงทำให้ความดันโลหิตสูง ตามมา
นอกจากนั้น การกินอาหารรสเค็มยังทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น เช่นเดียวกับไตที่ต้องรีบขับโซเดียมออกทางปัสสาวะอย่างรวดเร็ว คนกินเค็มจึงเสียงต่อการเป็นโรคหัวใจ และภาวะไตวายมากกว่าคนกินอาหารรสชาติปกติ
ความเค็มอาจมีประโยชน์มากในการถนอมอาหาร แต่คงไม่ดีนักถ้าจะปล่อยให้มันไปทำให้กระบวนการทำงานของอวัยวะสำคัญในร่างกายของเราแปรปรวน กินเค็มแต่พอดี ดีกว่านะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น