ภัยนํ้าอัดลม
ซื้อน้ำอัดลมในสถานศึกษามากกว่า รร.ปลอดน้ำอัดลม 7-8 เท่า กทม.จัดโครงการ “โรงเรียนอ่อนหวาน” รณรงค์ห้ามจำหน่ายในโรงเรียน
เมื่อวันที่ 10 ก.ค. ที่โรงเรียนวิชูทิศ ดินแดง กท. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน จัดงาน "แต้มสีสันโรงเรียนอ่อนหวาน 7 วัน 7 สี ไม่มีน้ำอัดลม" โดย นพ.สุริยเดว ทรีปาตี โฆษกเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน กล่าวว่า การดื่มน้ำอัดลมในเด็กและเยาวชนกำลังกลายเป็นปัญหาสาธารณสุข
เนื่องจากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า น้ำอัดลมเป็นบ่อเกิดของโรคหลายชนิด อาทิ โรคอ้วน โรคผอม โรคฟันผุ และกระดูกกร่อน ล่าสุดรายงานจากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี พบว่า เด็กที่มีอาการฟันผุ มีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคฝีในสมองได้
"เมื่อช่วงเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา แพทย์ทางสถาบันสุขภาพเด็กฯ พบว่า อาการฝีในสมองของเด็กรายหนึ่ง เกิดจากปัญหาฟันซี่บนผุ ซึ่งเชื่อมต่อฐานของสมอง เมื่อฟันผุมากๆ เชื้อโรคก็แทรกซึมเข้าสู่สมองจนทำให้เกิดฝีในสมองได้ เมื่อย้อนกลับมามองสาเหตุของฟันผุ เชื่อว่าส่วนหนึ่งมาจากการรับประทานที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะน้ำอัดลม ซึ่งเป็นแหล่งของความหวานชั้นยอด" นพ.สุริยเดว กล่าว
นพ.สุริยเดว กล่าวอีกว่า ปกติน้ำอัดลม 1 กระป๋องจะมีน้ำตาลประมาณ 10-14 ช้อนชา ทุกกระป๋องจะเพิ่มโอกาสเป็นโรคอ้วนได้ร้อยละ 1-2 จากการศึกษาปัญหาเด็กอ้วนพบว่า ส่วนใหญ่ดื่มน้ำอัดลม 25 กระป๋องต่อสัปดาห์ ขณะที่ตามหลักโภชนาการแล้ว ไม่ควรรับประทานน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชาต่อวัน
นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดภาวะพร่องแคลเซียม เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่จะเป็นโรคกระดูกคดงอและโรคกระดูกพรุนได้ ส่วนกลยุทธ์การตลาดของผู้ประกอบการที่ออกมาโฆษณาว่า น้ำอัดลมปราศจากน้ำตาลหรือน้ำตาล 0 เปอร์เซ็นต์ ต้องระวังเป็นพิเศษ
เนื่องจากในระยะยาวจะทำให้เป็นโรคผอมเพราะขาดสารอาหารเพราะเครื่องดื่มชนิดนี้ไม่มีสารอาหารใดๆ มีแต่แก๊ส ทำให้ท้องอืด ไม่อยากอาหาร คนอ้วนที่ต้องการลดความอ้วนจะหันมาดื่มน้ำอัดลมประเภทนี้จะทำให้ลดความอ้วนได้
ขณะเดียวกันยังส่งผลให้ร่างกายเจริญเติบโตไม่เต็มที่เพราะน้ำอัดลมมีกรดคาร์บอนิกที่มีคุณสมบัติขับแคลเซียมออกจากร่างกาย โดยเฉพาะวัยรุ่น 9-14 ปี ที่ต้องการแคลเซียมเพื่อสร้างความเติบโตมากที่สุด หากดื่มน้ำอัดลมมากจะทำให้ร่างกายขับแคลเซียมจนหมดส่งผลให้ร่างกายสูงไม่เต็มที่และ "อ้วนเตี้ย"
"การดื่มน้ำอัดลมจำนวนมาก สุ่มเสี่ยง ต่อการเกิดโรคต่างๆ ที่สำคัญยังเป็นการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการรักษาโรค เพราะเด็กที่เข้ารักษาตัวเพราะน้ำหนักตัวเกิน จะหายใจไม่ออก นอนไม่ได้มากกว่าเด็กปกติ 2-3 เท่า ทำให้ต้องรักษาตัวนาน ดังนั้นโรงเรียนต่างๆจึงควรหันมาใส่ใจปัญหานี้และทำให้ร้านค้าภายในและรอบโรงเรียนปลอดการขายน้ำอัดลม แต่ควรหันมาดื่มน้ำเปล่า เพราะเป็นน้ำสะอาดและดีที่สุด หากต้องการดื่มน้ำผลไม้ก็สามารถทำได้แต่ไม่ควรมีน้ำตาลเกินร้อยละ 5 ต่อ 100 ซีซี" นพ.สุริยเดว กล่าว
ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผอ. สำนักงานสนับสนุนการสร้างสุขภาวะและลดปัจจัยเสี่ยงรอง สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ป่วยจากโรคอ้วน 300 ล้านคน และอีกประมาณ 1,000 ล้านคน ที่กำลังเข้าสู่ภาวะโรคอ้วน ปัญหาส่วนหนึ่งมาจากการไม่ออกกำลังกาย ขณะที่การบริโภคยังนิยมของแคลอรีสูง และของหวานต่างๆ ประเทศไทยก็เช่นกันจากการศึกษาพบว่า หากดื่มน้ำอัดลมติดต่อกันเป็นเวลา 1 เดือน จะทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นอีก 1 กิโลกรัม
ด้าน ผศ.ทพญ.ปิยะนารถ จาติเกตุ นักวิชาการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน กล่าวว่า ล่าสุดได้ทำการสำรวจการบริโภคเครื่องดื่มของนักเรียน จากกลุ่มตัวอย่าง 9,300 คน ในโรงเรียน 14 จังหวัดทั่วประเทศ แบ่งเป็นนักเรียน 8,400 คน ผู้ปกครอง 700 คน ครู 273 คน พบว่า นักเรียนในโรงเรียนที่ขายน้ำอัดลม ดื่มน้ำอัดลมบ่อยกว่านักเรียนที่โรงเรียนปลอดน้ำอัดลม 7-8 เท่า โดยนักเรียนระดับมัธยมศึกษาจะดื่มมากกว่าประถมศึกษา 3.9 เท่า และหญิงดื่มบ่อยกว่าชายถึง 1.4 เท่า ปัจจัยสำคัญของการดื่มน้ำอัดลม
ส่วนหนึ่งเกิดจากการขายน้ำอัดลมในโรงเรียน ซึ่งผู้ขายส่วนใหญ่ คือ สหกรณ์หรือร้านค้าโรงเรียนร้อยละ 44 ส่วนโรงเรียนที่มีน้ำอัดลมที่มีทั้งแม่ค้าและสหกรณ์หรือร้านค้าของโรงเรียนพบถึงร้อยละ 47.2 นอกจากนี้จากการศึกษายังพบว่า โรงเรียนที่ปลอดและไม่ปลอด น้ำอัดลมได้รับเงินสนับสนุนจากผู้จำหน่ายเครื่องดื่มทั้งสิ้น โรงเรียนที่ไม่ปลอดน้ำอัดลมได้ถึงร้อยละ 81.3 ขณะที่โรงเรียนปลอดน้ำอัดลมได้เพียงร้อยละ 59.3
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ขณะนี้ กทม.ได้จัดโครงการโรงเรียนอ่อนหวาน เพื่อสร้างจิตสำนึกให้แก่ครู นักเรียน และผู้ปกครอง ให้เลือกบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และเข้าใจโทษของการบริโภคของหวาน โดยกทม.เริ่มมีนโยบายห้ามขายน้ำอัดลมในโรงเรียนในสังกัด 436 แห่งมา 3 ปี มีนักเรียน 340,000 คน เชื่อว่าจะทำให้เด็กๆ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคจากน้ำอัดลมได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น